เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 4.กาณมาตุสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า พึงรับได้เต็ม 2-3 บาตร ความว่า ภิกษุพึงรับได้เต็ม 2-3 บาตร
คำว่า ถ้ารับเกินกว่านั้น ความว่า รับเกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม 2-3 บาตร แล้วเมื่อออกจากที่นั้นไปพบภิกษุรูปอื่นพึงบอก
ว่า “กระผมรับเต็ม 2-3 บาตร ในที่โน้น ท่านอย่ารับในที่นั้น” ถ้าพบภิกษุรูป
อื่นแล้วไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อบอกแล้ว ภิกษุรูปนั้นยังไปรับ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
คำว่า เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุพึง
นำกลับไปแล้วแบ่งกัน
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[234] ของเต็มเกิน 2-3 บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน รับ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน 2-3 บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน 2-3 บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม 2-3 บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม 2-3 บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม 2-3 บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :391 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 4.กาณมาตุสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[235] 1. ภิกษุรับเต็ม 2-3 บาตร
2. ภิกษุรับไม่เต็ม 2-3 บาตร
3. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของกำนัล
4. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมเป็นเสบียงเดินทาง
5. ภิกษุผู้รับของที่เหลือจากที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของ
กำนัลหรือเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง
6. ภิกษุผู้รับของที่ทายกถวายเมื่อเขาระงับการไปแล้ว
7. ภิกษุรับของญาติ
8. ภิกษุรับของคนปวารณา
9. ภิกษุรับเพื่อภิกษุอื่น
10. ภิกษุรับของที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
11. ภิกษุวิกลจริต
12. ภิกษุต้นบัญญัติ

กาณมาตุสิกขาบทที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :392 }